top of page

ผ้าคอตตอน Vs. ผ้าลินิน ใช้แทนกันได้หรือไม่ ?


เนื้อผ้าลินินและเนื้อผ้าคอตตอน ทั้งสองต่างเป็นเนื้อผ้าที่ทนทาน ระบายอากาศได้ง่าย ซึมซับน้ำได้ดี และนุ่มหนา อีกทั้งยังผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเหมือนกัน แล้วอะไรล่ะ คือความแตกต่างที่ทำให้ทั้งสองเนื้อผ้านี้ มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ?


คอตตอนมีลักษณะอย่างไร ?



เนื้อผ้าคอตตอน เป็นเนื้อผ้าที่ทอมาจากต้นฝ้าย ลักษณะของเส้นใยจะเป็นแบบ เส้นใยสั้น ที่มีความยาวอยู่ระหว่าง 2 - 46 ซม. เป็นเส้นใยที่ได้คัดเอาเฉพาะส่วนลำต้นของต้นฝ้ายที่มีความนุ่มหยุ่นมาทอ เพื่อให้ได้เนื้อผ้าที่มีประสิทธิภาพ ทนทาน


เนื้อผ้าคอตตอนจึงมักจะถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกผ้าหลากหลายชนิด ทั้งเครื่องนุ่มห่ม ชุดเครื่องนอน ผ้าคลุมโต๊ะ และอุปกรณ์ประกอบบนโต๊ะอาหาร อาทิ ผ้าเช็ดปาก ผ้ารองจาน และผ้ารองแก้ว


ลินินมีลักษณะแบบไหน ?



เนื้อผ้าลินิน เป็นเนื้อผ้าที่ทอมาจากต้นป่าน เนื้อผ้าลินินจะมีน้ำหนักที่เบาและทนทานมากกว่าเนื้อผ้าคอตตอน แน่นอนว่าเนื้อผ้าลินินนั้นทำมาจากเส้นใยธรรมชาติเช่นกัน แต่กระบวนการผลิตนั้นจะใช้เวลานานและยุ่งยากมากกว่าเนื้อผ้าคอตตอน อันเนื่องมาจากเส้นใยป่าน จำเป็นที่จะต้องมีเวลาเก็บพักหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้เส้นใยได้นุ่มอ่อนลงกว่าตอนที่เก็บเกี่ยวในทันที


เช่นเดียวกับผ้าคอตตอน เนื้อผ้าลินินมักจะถูกรำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกผ้าเช่นกัน แต่ด้วยกระบวนการผลิตที่ใช้เวลาและมีความซับซ้อน อีกทั้งเมื่อถัดทอออกมาแล้วเนื้อผ้าลินินจะให้ลายผ้าที่ชัดเจนสวยงามกว่า ทำให้เนื้อผ้าชนิดนี้มีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับเนื้อผ้าชนิดอื่น


9 ลักษณะเด่นที่แตกต่างกันของเนื้อผ้าคอตตอนและเนื้อผ้าลินิน


  1. ความทนทาน : ถึงแม้ว่าเนื้อผ้าคอตตอนจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเนื้อผ้าลินินก็ตาม แต่เนื้อผ้าลินินจะมีความทนทานมากกว่า เนื่องจากลักษณะของเส้นใยในเนื้อผ้าลินินนั้นจะเป็นเส้นใยแบบยาว จึงสามารถทอประสานมัดกันเป็นเนื้อผ้าได้เหนียวแน่นกว่าเส้นใยแบบสั้นในเนื้อผ้าคอตตอน

  2. ความนุ่ม : เนื้อผ้าคอตตอนนั้นจะมีความนุ่มในสัมผัสแรกใช้มากกว่าเนื้อผ้าลินิน และจะมีอายุการใช้งานราว 5 ปี ในขณะที่เนื้อผ้าลินินนั้น สัมผัสในการใช้งานครั้งแรกจะค่อนข้างแข็งกว่าเล็กน้อย จากนั้นจึงจะค่อยนุ่มขึ้นหลังผ่านการซักทำความสะอาดสักประมาณ 4-5 ครั้ง และจะมีอายุในการใช้งานได้ถึง 30 ปี

  3. ลายของผ้า : ลวดลายธรรมชาติบนผ้าของผ้าลินินจะชัดเจนมากกว่าเนื้อผ้าคอตตอน ส่วนใหญ่แล้วเนื้อผ้าคอตตอนมักจะมีลายค่อนข้างเรียบ

  4. ความยากต่อการยับ : ทั้งเนื้อผ้าลินินและเนื้อผ้าคอตตอนนั้นจะค่อนข้างง่ายต่อการยับเป็นรอย อันเนื่องจากทั้งสองเนื้อผ้าใช้เส้นใยธรรมชาติในการทอ

  5. โอกาสที่จะก่อให้เกิดการแพ้ : จากเส้นใยธรรมชาติสู่เนื้อผ้าที่นำมาใช้งาน โอกาสที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ผื่นคันจึงมีน้อยมาก เนื่องจากในกระบวนการและขั้นตอนในการถักทอนั้นไม่มีเคมีเจือปน อย่างไรก็ดี เนื้อผ้าลินินจะถูกแนะนำให้กับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ได้ง่ายมากกว่า ด้วยการใช้เส้นใยในการทอที่น้อยกว่าผ้าคอตตอน ทำให้เนื้อผ้าลินินไม่อมฝุ่นเท่ากันเนื้อผ้าอื่นในอุตสาหกรรม

  6. ความสามารถในการซึมซับน้ำ : เนื้อผ้าคอตตอนจะสามารถซึมซับน้ำได้ดีกว่าเนื้อผ้าลินินเล็กน้อย โดยที่เนื้อผ้าคอตตอนจะสามารถซึมซับน้ำได้ 25% ของน้ำหนักผ้า ในขณะที่เนื้อผ้าลินินอยู่ที่ 20%

  7. ระยะความเร็วในการแห้งตัว : แม้ว่าทั้งสองเนื้อผ้าจะสามารถซึมซับน้ำได้ใกล้เคียงกันก็ตาม แต่เนื้อผ้าลินินมีระยะในการแห้งตัวได้ไวกว่าเนื้อผ้าคอตตอน

  8. การระบายอากาศ : ความสามารถในการระบายอากาศของเนื้อผ้าคอตตอนและเนื้อผ้าลินินนั้นแม้ว่าจะสามารถระบายอากาศได้เช่นกันก็ตามแต่ทั้งสองจะแตกต่างกันที่ชนิดของผ้า สำหรับเนื้อผ้าคอตตอนที่ทอหนา อาทิ ผ้าเดนิมส์ ผ้าแคนวาส จะมีการระบายอากาศได้น้อยกว่าเนื้อผ้าคอตตอนธรรมดา ในขณะที่เนื้อผ้าลินินจะค่อนข้างโปร่ง บาง เบาสบายและระบายอากาศได้ดี

  9. การให้ความอบอุ่น : เนื่องจากเนื้อผ้าลินินนั้นเป็นเนื้อผ้าที่มีความโปร่งเบาจึงมีความอบอุ่นที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับในเนื้อผ้าลักษณะอื่น ส่วนผ้าคอตตอนนั้นจะแตกต่างตามความหนาของการทอ

โดยสรุปแล้วความแตกต่างของทั้งสองเนื้อผ้านั้นถึงแม้จะมีไม่มากก็ตามแต่ในความแตกต่างเพียงน้อยนิดก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเองของเนื้อผ้า ในเนื้อผ้าคอตตอน จะมีความนุ่มตั้งแต่สัมผัสแรก มีลายที่เรียบ รับน้ำได้ดี ในเนื้อผ้าลินิน จะมีลวดลายที่ยังคงแสดงถึงความเป็นธรรมชาติ มีสัมผัสที่ทำให้เข้าใจได้ถึงกระบวนการการผลิต และสามารถระบายอากาศได้อย่างดี โดยทั้งนี้ ทั้งสองเนื้อผ้าได้ผลิตจากเส้นใยอันเป็นธรรมชาติ ปราศจากเคมี ไร้มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยความ eco friendly ของทั้งสองเนื้อผ้า รวมไปถึงลักษณะเอกลักษณ์เด่น ทำให้เนื้อผ้าคอตตอนและเนื้อผ้าลินินเป็นที่นิยมในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการนำเนื้อผ้าทั้งสองไปใช้งานนั้น ก็คือการนำไปใช้งานให้ถูกกับคุณสมบัติของเนื้อผ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน


ข้อมูลจาก masterclass.com และ magiclinen.com

แปลและเรียบเรียงข้อมูลโดย รังสิมา @Royalhometextile & Decor.

bottom of page